skip to Main Content

ข้อบังคับสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย

หมวดที่ 1 บทความทั่วไป

  • ข้อ 1. ชื่อของสมาคมการค้า สมาคมการค้านี้มี ชื่อว่า “สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย” เขียนชื่อเป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า
    “Thai Real Estate Broker Association” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ไทย เรียลเอสเตท โบรกเกอร์ แอสโซซิเอชั่น”
  • ข้อ 2. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 387 ซอยประสาทคอร์ต (สวนพลู 8) ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
  • ข้อ 3. ตราของสมาคม มีเครื่องหมายเป็นรูป ดังนี้ 
  • ข้อ 4. บทนิยาม
    – สมาคม หมายความว่า สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย
    – สมาชิก หมายความว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ที่ประกอบธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ หรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
    – คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการบริหารสมาคม (กส)
    – ผู้จัดการ หมายความว่า เป็นเจ้าหน้าที่ ตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานสมาคม
    – เจ้าหน้าที่ หมายความว่า ลูกจ้าง ผู้ปฎิบัติหน้าที่ มีเงินเดือนประจำ เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสมาคม และไม่ใช่คณะกรรมการ

หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์

  • ข้อ5. สมาคมนี้มีวัตถุที่ประสงค์ต่อไปนี้
    – ส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์
    – สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิก สอดส่องและติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดการค้าอสังหาริมทรัพย์ทั้งภายในและภายนอก เพื่ออำนวยประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมการเงิน หรือเศรษฐกิจ
    – ประสานความสามัคคีและแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ในทางวิชาการ ข่าวสารการค้า ตลอดจนการวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์
    – ขอสถิติ หรือเอกสาร หรือขอทราบข้อความใด ๆ จากสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินการธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ดัวยความยินยอมของสมาชิก
    – ส่งเสริมคุณภาพ ธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ที่สมาชิกเป็นผู้แทนจำหน่าย ให้ได้มาตรฐานที่ดี ตลอดจนวิจัยและปรับปรุงระบบนายหน้าให้มีประสิทธิภาพและให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
    – ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมพัฒนาการด้านนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ให้อยู่ในมาตรฐานที่ดี สอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ
    – ทำความตกลงหรือวางระเบียบมาตรฐานการให้บริการและจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจให้สมาชิกปฏิบัติ หรืองดเว้นการปฏิบัติเพื่อให้การประกอบวิสาหกิจของสมาชิกได้ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย ตลอดจนส่งเสริมให้มีระบบการพิจารณาข้อร้องเรียนทางด้านมารยาทและจรรยาบรรณของสมาชิก พร้อมทั้งมาตรการในการลงโทษผู้ฝ่าฝืน
    – ส่งเสริมพลานามัย กีฬา และจัดงานบันเทิงเป็นครั้งคราว
    – ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอกในการประกอบวิสาหกิจ
    – ให้ความอนุเคราะห์แก่สมาชิกในด้านสวัสดิการ เท่าที่ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
    – ผดุงเกียรติวิชาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์

หมวดที่ 3 สมาชิก และสมาชิกภาพ

  • ข้อ6. ประเภทสมาชิก สมาชิกของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย แบ่งออกเป็น 5 ประเภท และมีคุณสมบัติดังนี้ คือ
    – สมาชิกสามัญได้แก่ นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจในการเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้แทนสมาชิกสามัญ  ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรวิชาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์จากสถาบันที่สมาคมรับรองและสอบผ่านตามเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด
    – สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจในการเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ในความรับผิดชอบของสมาชิกสามัญ โดยต้องผ่านการอบรมและได้รับการรับรองโดยสมาชิกวุฒิ และสอบผ่านตามเกณฑ์ที่สมาคมกำหนดอสังหาริมทรัพย์ทั้งภายในและภายนอก เพื่ออำนวยประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมการเงิน หรือเศรษฐกิจ
    – สมาชิกวิสามัญ ได้แก่บุคคลธรรมดาที่ จดทะเบียนพาณิชย์และประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ หรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือได้รับอนุมัติเป็นรายกรณีจากมติข้างมากของคณะกรรมการสมาคมโดยสมาชิกที่เป็นบุคคลธรรมดาจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรวิชาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์จากสถาบันที่สมาคมรับรอง และสอบผ่านตามเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด
    – สมาชิกวุฒิ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์และถือบัตรประจำตัวสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกวิสามัญติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ จบปริญญาตรี หรือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ตามมติคณะกรรมการ และจะต้องผ่านการอบรมและสอบผ่านหลักสูตรระดับสูงจากสถาบันที่สมาคมให้การรับรอง
    – สมาชิกกิตติมศักดิ์ได้แก่บุคคลธรรมดาซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือเป็นผู้ที่มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการมีมติให้เข้าเป็นสมาชิก และผู้นั้นตอบรับคำเชิญสมาชิก (1)-(4) จะได้รับบัตรประจำตัวสมาชิกเมื่อมีคุณสมบัติและปฎิบัติตามที่คณะกรรมการกำหนด
  • ข้อ7. สมาชิกของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ตามข้อ 6 จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ
    – กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา

    • เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
    • ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลไร้ ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
    • ไม่เคยต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท
    • ไม่เป็นโรคอันพึงรังเกียจแก่สังคม
    • เป็นผู้มีฐานะมั่นคงพอสมควร
    • เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

    – กรณีที่เป็นนิติบุคคล

    • ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
    • มีฐานะมั่นคงพอสมควร
  • ข้อ 8. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมจะต้องยื่นความจำนงต่อเลขาธิการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการตามแบบพิมพ์ที่สมาคมได้กำหนดไว้โดยมีสมาชิกสามัญ 2 คนหรือสมาชิกวุฒิ 1 คน เป็นผู้รับรอง ส่วนสมาชิกสมทบให้สมาชิกสามัญต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการให้
  • ข้อ 9. การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้เลขาธิการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการนำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะ กรรมการ พร้อมแจ้งให้ผู้สมัครเข้ารายงานตัวต่อคณะกรรมการในที่ประชุมคราวเดียวกัน เมื่อคณะกรรมการมีมติให้รับหรือไม่รับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิก หรือให้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ผู้สมัครทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลงมติ
  •  ข้อ 10. วันเริ่มสมาชิกภาพ สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก และค่าบำรุงประจำปีของสมาคม และคณะกรรมการมีมติรับเป็นสมาชิกเรียบร้อยแล้ว
  •  ข้อ 11. สมาชิกสามัญ ต้องแต่งตั้งผู้แทนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา เพื่อทำหน้าที่ใช้สิทธิแทน ได้ไม่เกิน 2 คนโดยยื่นคำขอและเสียค่าบำรุงรายปี และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้ 1 เสียง
  • ข้อ 12. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลง ในกรณีดังต่อไปนี้
    – ตาย หรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
    – ขาดคุณสมบัติตามข้อ 7
    – ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการมีมติให้ออก
    – คณะกรรมการลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการที่มาประชุม ด้วยเหตุกระทำการใด ๆ ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยเจตนา หรือกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับ
    – กรณีสมาชิกไม่ชำระเงินค่าบำรุงราย ปี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สมาชิกภาพสิ้นสุด ให้ถือว่าขาดสมาชิกภาพ   เว้นแต่สมาชิกผู้นั้นยินยอมชำระค่าปรับตามที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่สมาชิกภาพสิ้นสุด
    – กรณีสมาชิกสมทบ ออกจากการเป็นนายหน้าภายใต้ความรับผิดชอบของสมาชิกสามัญ
  • ข้อ 13. ทะเบียนสมาชิก ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนสมาชิกเก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคม โดยอย่างน้อยให้มีรายการดังต่อไปนี้
    – ชื่อและสัญชาติของสมาชิก
    – ชื่อที่ใช้ในการประกอบวิสาหกิจและประเภทของวิสาหกิจ
    – ที่ตั้งสำนักงานของสมาชิก
    – วันที่เข้าเป็นสมาชิก

หมวดที่ 4 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

  • ข้อ14. สิทธิของสมาชิก
    – ได้รับความช่วยเหลือและการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคมจากสมาคมเท่าที่จะอำนวยได้
    – เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อสมาคม หรือคณะกรรมการในเรื่องใดๆอันอยู่ในวัตถุที่ประสงค์ของสมาคม เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคม
    – ขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ- สมาชิกวุฒิ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์และถือบัตรประจำตัวสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกวิสามัญติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี
    – เข้าร่วมประชุมอภิปรายแสดงความคิดเห็นซักถามกรรมการเสนอญัตติในการประชุมใหญ่สมาชิก
    – มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคม
    – สมาชิกสามัญ(ผู้แทน)มีสิทธิสมัครเข้าเป็นสมาชิกวุฒิได้ หากมีคุณสมบัติตามข้อ 6(4) และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่
    – สมาชิกวิสามัญ(บุคคลธรรมดา) มีสิทธิสมัครเข้าเป็นสมาชิกวุฒิได้ หากมีคุณสมบัติตามข้อ6(4) โดยสมาชิกวิสามัญมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ เมื่อเป็นสมาชิกครบ 3 ปีติดต่อกัน
    – มาชิกวุฒิ มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาชิกวุฒิ และมีสิทธิได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการ และหรือนายกสมาคม นอกจากนี้ยังมีสิทธิรับรองผู้สมัครสมาชิกสามัญหรือวิสามัญใหม่และออกหนังสือรับรองผ่านการอบรมให้แก่ผู้สมัครเป็นสมาชิกสมทบได้อีกด้วย สมาชิกวุฒิที่มีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกสมาคมได้ จะต้องเป็นผู้แทนสมาชิกสามัญที่เป็นกรรมการของนิติบุคคลเท่านั้น
  • ข้อ15. หน้าที่สมาชิก
    – ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับจรรยาบรรณ มติคณะกรรมการ มติที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และมีหน้าที่ดำเนินการใดๆซึ่งตนได้รับมอบ หมายจากสมาคม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยเคร่งครัด
    – ดำรงรักษาเกียรติและผลประโยชนส่วนได้ส่วนเสียของสมาคมตลอดจนต้องรักษาความลับในที่ประชุม
    – ต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีระหว่างสมาชิกและปฏิบัติกิจทางการค้าในทำนองช่วยเหลือกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
    – ชำระค่าบำรุงให้แก่สมาคมตามที่กำหนด
    – สมาชิกผู้ใดเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล สัญชาติ ย้ายที่อยู่ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนแปลงประเภทวิสาหกิจหรือเปลี่ยนผู้แทน นิติบุคคล จะต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่เปลี่ยนแปลง
    – สมาชิกสามัญ มีหน้าที่จัดให้ผู้ร่วมงานประจำทุกคนที่ทำหน้าที่นายหน้าธุรกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบในเวลาอันสมควร
    – สมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนมีสิทธิ์เข้าประชุมกับคณะกรรมการสมาคม ในฐานะผู้สังเกตการณ์ตามคำเชิญของนายกสมาคม หรือคณะกรรมการสมาคมฯ
    – ต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน ปปง.ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

หมวดที่ 5 ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก และค่าบำรุงสมาคม

  • ข้อ16. ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิกและค่าบำรุงสมาคม
    – สมาชิกสามัญจะต้องชำระค่าลงทะเบียน 500 บาท และค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปีๆ ละ 2,000 บาท
    – สมาชิกสมทบจะต้องชำระค่าลงทะเบียน 500 บาท และค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปีๆ ละ 300 บาท
    – สมาชิกวิสามัญจะต้องชำระค่าลงทะเบียน 500 บาท และค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปีๆ ละ1,000 บาท
    – สมาชิกวุฒิ จะต้องชำระค่าลงทะเบียน 5,000 บาทและค่าบำรุงสมาคมรายปีๆละ 5,000บาท
    – สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียน หรือค่าบำรุงอย่างใดทั้งสิ้น
  • ข้อ17. ค่าบำรุงพิเศษ สมาคมอาจเรียกเก็บค่าบำรุงพิเศษจำนวนเท่าใดจากสมาชิกได้เป็นครั้งคราว โดยที่ประชุมใหญ่ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ที่มาประชุมทั้งหมด

หมวดที่ 6 คณะกรรมการของสมาคม

  • ข้อ18. ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม และเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ประกอบด้วยสมาชิกวุฒิ ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 25 คน
    ในกรณีจำนวนกรรมการไม่ครบ 25 คนตามวรรคแรกให้นายกสมาคมมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการจากสมาชิกวุฒิและหรืออดีตนายกสมาคมกรรมการกิตติมศักดิ์)เพิ่มอีกได้แต่ไม่เกิน 25 คน
    ให้นายกสมาคม ที่หมดวาระในการดำรงตำแหน่งมีสิทธิเป็นกรรมการที่ปรึกษาหรือกรรมการกิตติมศักดิ์ของสมาคมโดยให้นายกสมาคมคนใหม่แต่งตั้ง ด้วยความเห็นชอบของนายกสมาคมที่หมดวาระ กรรมการกิตติมศักดิ์เท่านั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
    การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารให้คณะกรรมการกำหนด วัน เวลา ระเบียบ และวิธีการเลือกตั้ง พร้อมคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประกาศวันที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีและจัดการเลือกตั้งให้สมาชิกรับทราบไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ให้ที่ประชุมใหญ่แต่งตั้งประธานคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง และให้ประธานฯ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการได้อีกไม่น้อยกว่า 2 คน เพื่อให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ด้วยความเป็นกลาง เป็นธรรม โปร่งใส ตามวิธีการ การเลือกตั้ง และแบบฟอร์มที่สมาคมกำหนด
    ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดตามลำดับ 25 คนแรก เป็นกรรมการ หากผู้ที่ได้รับคะแนนต่ำสุดในลำดับสุดท้ายเท่ากัน ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเฉพาะผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากันเท่านั้น แต่หากเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลากหากมีผู้สมัครไม่ถึง 25 คน ให้ถือว่าผู้สมัครทุกคนเป็นกรรมการโดยปริยาย ให้คณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้ง เลือกกันเองเพื่อดำรงตำแหน่ง นายกสมาคม อุปนายกฯ เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ปฏิคม ประชา สัมพันธ์ ฝ่ายกฎหมายและหรือตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม
    คณะกรรมการของสมาคม อยู่ในตำแหน่งกรรมการได้คราวละ 2 ปี เมื่อพ้นตำแหน่งตามวาระแล้ว อาจได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกก็ได้ เว้นแต่ นายกสมาคม จะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน
  • ข้อ19. การพ้นจากตำแหน่งกรรมการสมาคม กรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้
    – ครบกำหนดออกตามวาระ
    – ลาออกโดยคณะกรรมการได้ลงมติอนุมัติแล้ว เว้นแต่การลาออกเฉพาะตำแหน่ง
    – ขาดจากสมาชิกภาพ
    – ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากการเป็นกรรมการ
    – เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ออกตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509
    – ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
    – ขาดประชุมคณะกรรมการ 2 ครั้ง ติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เว้นแต่จะได้มอบฉันทะให้ผู้แทนเข้าร่วมประชุมแทน และคณะกรรมการ มีมติรับรอง โดยให้บันทึกไว้ในรายงานการประชุมด้วย
    – กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนก่อให้เกิดความเสียหาย หรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือมีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมอันเป็นที่เสื่อมเสีย หรือเป็นโทษต่อชื่อเสียงเกียรติคุณและผลประโยชน์ของสมาคมสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่า 5 คน หรือกรรมการไม่น้อยกว่า 2 คน ร้องขอเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ให้จัดประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณามีมติรับข้อร้องเรียน ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ของคณะกรรมการที่มาประชุม และมีมติถอดถอนกรรมการ ดังกล่าว ดัวยคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของคณะกรรมการที่มาประชุม และให้คณะกรรมการ มีหน้าที่นำมติดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและมีผลนับตั้งแต่การลงมตินั้นเสร็จสิ้น
  • ข้อ20. กรณีนายกสมาคมฯ พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการมีมติเลือกตั้ง กรรมการจากสมาชิกวุฒิ(เลือกตั้ง) คนใดคนหนึ่ง ให้เป็นนายกสมาคมฯ แทนได้
    กรณีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการมีมติแต่งตั้งกรรมการจากสมาชิกวุฒิ คนใดคนหนึ่งให้เป็นกรรมการแทนได้
    กรณีคณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะก่อนครบกำหนดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้นดำเนินการจัดประชุมใหญ่สมาชิก เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีนี้ให้นำความในข้อ 25 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
    คณะกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งและหรือแต่งตั้งแล้วแต่กรณี ตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ให้ดำรงตำแหน่งเท่าวาระที่เหลือของกรรมการซึ่งตนเป็นแทน
  • ข้อ21. การประชุมของคณะกรรมการจะต้องมีกรรมการ มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะนับว่าเป็นองค์ประชุม
    ในกรณีที่มีจำนวนกรรมการในคณะกรรมการน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด กรรมการที่เหลืออยู่ย่อมทำกิจการได้เฉพาะแต่ในเรื่องที่จะตั้งสมาชิกวุฒิ คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็น กรรมการเพิ่มขึ้นให้ครบจำนวน หรือนัดเรียกประชุมใหญ่หรือกระทำกิจการอันสมควรทุกอย่างเพื่อปกป้องรักษา ประโยชน์ของสมาคมเท่านั้น
  • ข้อ22. มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบัง คับ ไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
  • ข้อที่23. ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมเลือกอุปนายกผู้อาวุโสตามลำดับปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะในการประชุมคราวนั้น
  • ข้อ24. การประชุมคณะกรรมการ ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง อนึ่งในกรณีจำเป็นนายกสมาคมหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนหรือกรรมการรวมกันไม่น้อยกว่า 2 คน จะเรียกประชุมพิเศษขึ้นก็ได้
  • ข้อ25. การเข้ารับหน้าที่ของคณะกรรมการ เมื่อมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งยื่นจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งและส่งมอบหน้าที่ให้คณะกรรม การ ชุดใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าฯ รับจดทะเบียนในกรณีที่นายทะเบียนสมาคมการค้าฯ ยังมิได้รับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่และ คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งยังมิได้ส่งมอบหน้าที่ตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้น มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม ต่อไปจนกว่านายทะเบียนการค้าจะรับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ และคณะกรรมการชุดใหม่นั้นเข้ารับหน้าที่แล้ว การรับมอบหน้าที่ให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร
  • ข้อ26. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ มีดังนี้
    – บริหารกิจการและทรัพย์สินของ สมาคม ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และข้อบังคับ
    – เลือกตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่ง ต่าง ๆ ในคณะกรรมการ
    – วางระเบียบการในการปฏิบัติงาน ของสมาคม ให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับฉบับนี้ ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดถอน ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ อนุกรรมการ เจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งปวง ในการทำกิจการเฉพาะอย่างหรือ พิจารณาเรื่องต่างๆอันอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการ เพื่อให้การดำเนินงาน ของสมาคมเป็นไปโดยเรียบร้อยที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และอนุกรรมการดังกล่าวจะแต่งตั้งจากกรรมการหรือสมาชิกของสมาคมหรือบุคคลภายนอกก็ได้
    – มีอำนาจในการกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรฐานด้านจรรยาบรรณและวิธีพิจารณาข้อร้องเรียนจรรยาบรรณ โดยมติ 3 ใน 4 ของคณะกรรมการที่มาประชุม และประกาศบังคับใช้เป็นลายลักษณ์อักษร
    – มีอำนาจในการแต่งตั้งอนุกรรมการจรรยาบรรณ โดยให้ดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 1 ปี เป็นจำนวน 5 คน ด้วยมติคณะกรรมการ รายละเอียดคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการ
  • ข้อ27. อำนาจหน้าที่กรรมการตำแหน่งต่าง ๆ มีดังนี้
    – นายกสมาคม มีหน้าที่อำนวยการเพื่อให้การดำเนินการของสมาคมเป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบการในการปฏิบัติของสมาคม เป็นผู้แทนของสมาคม ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการตลอดจนในที่ประชุมใหญ่
    – อุปนายก มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคม ในกิจการทั้งปวงอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม และเป็นผู้ทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
    – เลขาธิการ มีหน้าที่ เป็นผู้ประสานงานแทนนายกสมาคม และหรือคณะกรรมการ ขับเคลื่อน ให้นโยบายต่างๆ ของสมาคมออกสู่องค์กรภายนอกกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ เก็บรักษาเอกสารต่าง ๆบริหาร งานสำนักงานของสมาคม เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ ตลอดจนโต้ตอบหนังสือ และปฏิบัติหน้าที่อื่น ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
    – เหรัญญิก มีหน้าที่รักษาและจ่ายเงินของสมาคม ทำบัญชีและการเงินของสมาคมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
    – นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนสมาชิกและทะเบียนต่างๆ ของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
    – ปฏิคม มีหน้าที่จัดสถานที่ประชุม ดูแลต้อนรับตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
    – ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเชิญชวน หาสมาชิก โฆษณากิจการและผลงานด้านต่างๆ ของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
    – ฝ่ายกฎหมาย มีหน้าที่ ให้คำปรึกษาช่วยเหลือ ด้านกฎหมายแก่สมาชิก ดูแลด้านนิติกรรมสัญญาที่สมาคมต้องกระทำกับบุคคลภายนอก ดูแลการบริหารกิจการของสมาคมให้อยู่ภายใต้ข้อบังคับฉบับนี้ภายใต้บังคับแห่งความในหมวดนี้ ให้นำความในหมวดที่ 7 การประชุมใหญ่ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
  • ข้อ28. ให้มีผู้จัดการสำนักงานสมาคมเป็นเจ้าหน้าที่ บริหารงานธุรการของสำนักงานภายใต้การควบคุมของเลขาธิการตามคำสั่งนายกฯ และตามมติคณะกรรมการ สมาคม

หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่

  • ข้อ29. การประชุมใหญ่ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกอย่างน้อยทุกระยะเวลา12 เดือน การประชุมเช่นนี้เรียกว่าการประชุมใหญ่สามัญ การประชุมใหญ่คราวอื่นนอกจากการประชุมใหญ่ตามวรรคก่อน เรียกว่าการประชุมใหญ่วิสามัญ
  • ข้อ30. กำหนดการประชุมใหญ่
    – ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ภายในกำหนด 120 วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคม เป็นประจำทุก ๆ ปี (2) ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นสมควร หรือสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือสมาชิกไม่น้อยกว่า 30 คน แสดงความจำนงโดยทำการร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขาธิการหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการให้คณะกรรมการนัดประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ลงมติ หรือวันที่ได้รับหนังสือ แล้วแต่กรณี
  • ข้อ31. การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่ คณะกรรมการจะต้องส่งหนังสือนัดประชุมโดยระบุ วัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุมใหญ่ ไปให้สมาชิกทุกคนได้ทราบ โดยส่งจดหมายทางไปรษณีย์ และหรือจดหมายอิเล็คทรอนิก ณ ที่อยู่ในทะเบียน ก่อนกำหนดวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 7 วัน
  • ข้อ32. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ จะต้องมีสมาชิก ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 30 คน ของจำนวนสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั้งหมดจึงจะถือเป็นองค์ประชุม
  • ข้อ33. กรณีการประชุมในครั้งแรกสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม หากล่วงพ้นกำหนดเวลานัดไปแล้ว 1 ชั่วโมงยังมีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมใหญ่คราวนั้นได้เรียกนัดเพราะสมาชิกร้องขอ ให้ยกเลิกการประชุมใหญ่นั้น ถ้ามิใช่เพราะสมาชิกร้องขอให้เลื่อนการประชุมใหญ่ไป ไม่เกิน 14 วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก และในการประชุมใหญ่คราวหลังนี้จะมีสมาชิกมามากน้อยเพียงใดก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม
  • ข้อ34. ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ถ้านายกสมาคม ไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกผู้มีอาวุโสตามลำดับหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกสมาคม และอุปนายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีกรรมการอยู่ในที่ประชุมเลยก็ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
  • ข้อ35. วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน 1คน มีคะแนนเสียง 1 เสียง สมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน อาจมอบฉันทะให้ตัวแทนเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนได้ โดยตัวแทนผู้รับมอบฉันทะ จะรับมอบฉันทะเกินกว่า 1 คนมิได้ ในการประชุมใหญ่ใด ๆ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนน ให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือหรือวิธีการอื่นใด อันเป็นการเปิดเผยว่าสมาชิกใดลงคะแนนเช่นไร เว้นแต่เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้นคณะกรรมการเห็นสมควรหรือได้มีสมาชิก ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ไม่น้อยกว่า 2 คนติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับ ในกรณีการเลือกตั้งคณะกรรมการให้ใช้ วิธีการออกเสียงลงคะแนน ตามที่คณะกรรมการกำหนด
  • ข้อ36. มติของที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันจะเป็นการชูมือก็ดี การลงคะแนนลับก็ดี หรือด้วยวิธีการอื่นใดก็ดี ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่ เป็นการเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคม
  • ข้อ37. กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่ มีดังนี้ :-
    – รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน
    – พิจารณารายงานประจำปี แถลงผลการดำเนินกิจการของสมาคมที่ผ่านมาในรอบปี (ถ้ามี)
    – พิจารณาอนุมัติงบดุล (ถ้ามี)
    – เลือกตั้งคณะกรรมการ (ในปีที่ครบวาระ)
    – เลือกตั้งที่ปรึกษาของสมาคม ประจำปีผู้สอบบัญชีของสมาคม ประจำปีและกำหนดค่าตอบแทน
    – กิจการที่ต้องกระทำโดยอาศัยมติจากที่ประชุมใหญ่
  • ข้อ38. การจัดทำบันทึกรายงานการประชุม รายงานการประชุมคณะกรรมการ การประชุมใหญ่ และการประชุมอื่นๆ ให้จดบันทึกไว้ทุกครั้งและต้องเสนอต่อที่ประชุมเพื่อ รับรองในครั้งต่อไป และสมาชิกสามารถขอตรวจดูได้ในวันและเวลาทำการ

หมวดที่ 8 การเงิน เงินทุนพิเศษ และการบัญชีของสมาคม

  • ข้อ39. วันสิ้นปีทางบัญชี ให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์
  • ข้อ40. การจัดทำงบดุล ให้คณะกรรมการจัดทำงบดุลที่เป็นอยู่ ณ วันสิ้นปีทางบัญชีนั้นแล้วส่งให้ผู้สอบบัญชีไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และผู้สอบบัญชีจะต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมใหญ่ประจำปีไม่น้อยกว่า 30 วัน
    งบดุลซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้ว คณะกรรมการต้องดำเนินการเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติภายใน 120 วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี เมื่อเสนองบดุลให้คณะกรรมการเสนอรายงานประจำปีแถลงผลการดำเนินงานของสมาคมต่อที่ประชุมใหญ่ด้วยให้สมาคม ส่งสำเนารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคม กับงบดุลไปยังนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่
    อนึ่งให้เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบดุลไว้ที่ สำนักงานของสมาคมเพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้
  • ข้อ41. อำนาจของผู้สอบบัญชี ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจสอบสมุดบัญชีและบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสมาคม และมีสิทธิสอบถามกรรมการตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชี และเอกสารดังกล่าว ในการนี้กรรมการและเจ้าหน้าที่จะต้องช่วยเหลือ และให้ความสะดวกทุกประการเพื่อการสอบเช่นว่านั้น
  • ข้อ42. การเก็บรักษาสมุดบัญชีและเอกสารการเงิน จะต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของสมาคม และให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเหรัญญิก
  • ข้อ43. การเงินของสมาคม เงินสดของสมาคมจะต้องนำฝากไว้ ณ ธนาคารพาณิชย์แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดซึ่งสมาคมนี้ตั้งอยู่ ในนามของสมาคมโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ ให้มีเงินทดรองจ่ายเกี่ยวกับกิจการของสมาคมไม่เกินวงเงิน10,000 บาท(หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)ในการนี้ เหรัญญิกเป็นผู้รับผิดชอบและเก็บรักษาเงินทดรองจ่ายนั้นการฝากให้เหรัญญิก หรือตามมติคณะกรรมการเป็นผู้นำเงินฝากเข้าบัญชี
    การถอนเงินจากธนาคาร ให้นายกสมาคมและอุปนายก หรือนายกสมาคม และเหรัญญิกลงนามร่วมกัน พร้อมประทับตราของสมาคม (ถ้ามี)
  • ข้อ44. การจ่ายเงินของสมาคม ให้นายกสมาคม มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน ของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ให้คณะกรรมการ มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน ของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนตามวรรคสองจะต้องได้รับอนุมัติ จากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
  • ข้อ45. เงินทุนพิเศษ สมาคมอาจหาเงินทุนพิเศษเพื่อมาดำเนินกิจการและส่งเสริความก้าวหน้าของสมาคมได้ โดยการเชื้อเชิญบุคคลภายนอกและสมาชิกร่วมกันบริจาคหรือกระทำการอื่นใดตามที่ คณะกรรมการเห็นสมควรและไม่ขัดต่อกฎหมาย

หมวดที่ 9 การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคม และการชำระบัญชี

  • ข้อ46. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัดทอนหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ จะกระทำได้แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3ของจำนวนสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนที่มาประชุมทั้งหมด
  • ข้อ47. การเลิกสมาคม สมาคมนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้
    – เมื่อมีประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนที่มาประชุมทั้งหมด
    – เมื่อล้มละลาย
    – เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้เลิกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509
  • ข้อ48. การชำระบัญชี เมื่อสมาคมนี้ต้องเลิกไปเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวใน ข้อ 47 การชำระบัญชีของสมาคมให้นำบทบัญญัติแห่งพระราช บัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 มาใช้บังคับในกรณีที่สมาคมต้องเลิกไปตามข้อ47 (1) ให้ที่ประชุมใหญ่คราวนั้นลงมติเลือกตั้งกำหนดตัวผู้ชำระบัญชีเสียด้วย และหากต้องเลิกไปตามข้อ 47 (3) ให้กรรมการทุกคนในคณะกรรมการชุดสุดท้ายที่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมการต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ชำระบัญชี
    หากมีทรัพย์สินของสมาคม เหลือจากการชำระบัญชีให้ยกให้แก่นิติบุคคลในประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใด หรือหลายแห่งตามมติของที่ประชุมใหญ่

บทเฉพาะกาล

  • ข้อ49. ให้คณะกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเป็นคณะกรรมการตามข้อบังคับฉบับนี้ภายใน 3 ปี ให้คณะกรรมการ และนายกสมาคมฯมาจากสมาชิกสามัญและหรือสมาชิก วุฒิ เว้นแต่ ภายในกำหนดดังกล่าว มีสมาชิกวุฒิไม่น้อยกว่า 25 คน ที่มาของคณะกรรมการ และนายกสมาคมฯ ให้เป็นไปตามข้อบังคับฉบับนี้ หากภายใน 3 ปี มีสมาชิกวุฒิไม่ครบ 25 คน ให้ขยายระยะเวลาตามวรรคสองอีก 3 ปี หากมีสมาชิกวุฒิครบ ตามวรรคสองหรือวรรคสาม ให้คณะกรรมการ(สมาชิกสามัญ) ที่ยังไม่หมดวาระ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ
  • ข้อ50. ให้มีหลักสูตรอบรมระดับสูงสำหรับสมาชิกวุฒิภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน
  • ข้อ51. ให้สมาชิกวิสามัญที่มีสมาชิกภาพในวันที่นายทะเบียน รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ เป็นสมาชิกวิสามัญตามข้อบังคับฉบับนี้ให้สมาชิกภาพสมาชิกวิสามัญ ตามวรรคหนึ่ง มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ เว้นแต่จะได้ปฎิบัติตาม ข้อ 6 (3)